เมื่อรู้ตัวว่ากำลังตั้งครรภ์ สิ่งแรกที่คุณแม่มือใหม่ควรทำคือพาตัวเองไปฝากครรภ์ทันทีที่ทราบผลตรวจ เพื่อให้แพทย์ช่วยดูแลสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์อย่างแข็งแรง ปลอดภัย และได้รับคำแนะนำการดูแลครรภ์อย่างถูกวิธี นอกจากนี้การฝากครรภ์ยังช่วยให้แพทย์เห็นความผิดปกติในครรภ์ และสามารถรักษาทั้งคุณแม่คุณลูกได้ทันเวลาอีกด้วย
เลือกที่ฝากครรภ์อย่างไรดี ?
ในการฝากครรภ์ ควรเลือกโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านที่สุด หรือโรงพยาบาลที่คุณแม่เคยเข้ารับการรักษาโรคประจำตัวมาก่อนยิ่งดี เพราะจะช่วยให้สะดวกสบาย มีความรวดเร็วทั้งการเดินทาง และการตรวจสุขภาพครรภ์ เนื่องจากคุณหมอมีประวัติการรักษา ยิ่งในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน คุณแม่ก็จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
นอกจากนี้อย่าลืมคำนวณค่าใช้จ่ายว่าจะเลือกโรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชน เพื่อเข้ารับบริการฝากครรภ์ที่เหมาะสมกับตัวเองที่สุด
ขั้นตอนการฝากครรภ์
เมื่อเราไปฝากครรภ์ แพทย์จะตรวจร่างกาย และสุขภาพครรภ์ ดังนี้
- ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง
ขั้นตอนนี้เป็นการประเมินเบื้องต้นว่า คุณแม่มีขนาดเชิงกรานเท่าไหร่ มีความสมดุลกับสัดส่วนของลูกหรือไม่ เพราะถ้าคุณแม่ตัวเล็ก อาจทำให้มีปัญหาคลอดยาก ดังนั้นจึงต้องดูแลเรื่องน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์เสมอ
- วัดความดันโลหิต
ทุกครั้งที่ฝากครรภ์ คุณแม่ต้องวัดโลหิต เพื่อดูค่าความดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัวและคลายตัว หากตัวเลขสูงเกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท (ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่กำหนด) จะถือว่ามีภาวะความดันโลหิตสูง
- ตรวจเลือด
เมื่อคุณแม่ไปฝากครรภ์ จะต้องมีการเจาะเลือดบริเวณข้อพับประมาณ 10 ซีซี. เพื่อดูความเข้มข้นและส่วนประกอบของเลือด ว่ามีความเสี่ยงต่อโรคธาลัสซีเมีย ไวรัสตับอักเสบ ซิฟิลิส หัดเยอรมัน และเอดส์หรือไม่
- ตรวจปัสสาวะ
เมื่อไปฝากครรภ์ คุณแม่ต้องตรวจปัสสาวะเพื่อดูว่ามีน้ำตาลในปัสสาวะหรือไม่ เพื่อป้องกันโรคเบาหวานแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ อีกทั้งยังตรวจหาโปรตีน เพื่อลดความเสี่ยงไตไม่ปกติ ซึ่งถ้ามาตรวจพบหลังตั้งครรภ์ว่ามีอาการร่วมกับความดันโลหิตสูง อาจเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ
- ตรวจหน้าท้อง
สุดท้ายคือการอัลตร้าซาวด์ตรวจหน้าท้องเพื่อดูว่า ทารกอยู่ท่าใด ส่วนนำเป็นศีรษะหรือไม่ รวมถึงขนาดตัวและน้ำหนักของลูกน้อยในครรภ์ เพื่อให้แน่ใจว่าท่าของลูกน้อยจะไม่เป็นอันตรายต่อทั้งคุณแม่คุณลูก
การเตรียมตัวเมื่อต้องฝากครรภ์ครั้งแรก
อย่างที่บอกว่าการฝากครรภ์เป็นช่วงที่สำคัญมาก คุณแม่ควรฝากครรภ์ทันทีที่รู้ว่ากำลังตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยของทั้งคู่ เพราะฉะนั้นมาเตรียมตัวให้พร้อมก่อนไปตรวจครรภ์กันดีกว่า !
- เตรียมบัตรประชาชนของคุณแม่และคุณพ่อ
- เตรียมข้อมูลประวัติการเจ็บป่วย การแพ้ยา การคลอดลูก โรคประจำตัว การแท้งบุตร ประวัติความเสี่ยงต่อโรคทางพันธุกรรม
- เตรียมข้อมูลการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย โดยนับจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย
สำหรับใครที่กำลังเป็นคุณแม่มือใหม่ หรือเตรียมตัวเป็นคุณแม่มือใหม่ หากรู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ อย่ามัวดีใจจนลืมพาตัวเองไปฝากครรภ์กันนะ ! จะได้มีคุณหมอใจดีช่วยดูแลครรภ์ของเราอย่างอุ่นใจและปลอดภัยที่สุด
ส่วนใครที่อยากอ่านบทความดีๆ หรืออยากได้สาระความรู้เกี่ยวกับคุณแม่โดยเฉพาะ ก็แวะมาอ่านกันได้ที่ Brusta หรือคลิก https://www.brustamiracle.com เลย !